ภาวะโลกร้อนเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเรามาก เพราะการที่อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นมีสาเหตุมาจากก๊าซเรือนกระจกชนิดต่างๆ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์(CO2) ,มีเทน(CH4) ,ไนตรัสออกไซด์(N2O) ,ก๊าซเพอร์ฟลูออโรคาร์บอน(PFCs) ,ก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน(HFCs) ,ก๊าซไนโตรเจนไตร-ฟลูออไรด์(NF3) และก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์(SF6) ดูดความร้อนเอาไว้ในปริมาณมากเกินไป ส่งผลให้ชั้นบรรยากาศมีการกักเก็บรังสีความร้อนไว้มากขึ้นทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้น
โดยเมื่อวันที่ 6-18 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมามีการประชุมสำคัญที่ติดตามความเคลื่อนไหวด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ‘COP27’ หรือ การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) ครั้งที่ 27 จัดขึ้น ณ เมืองชาร์มเอลชีค ประเทศอียิปต์
ประชุม COP27 ครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมกว่า 35,000 คน รวมถึงตัวแทนรัฐบาล ผู้สังเกตการณ์และภาคประชาสังคม เพื่อหารือแนวทางเรียกร้องให้ทั่วโลกร่วมมือกันอย่างจริงจังในการลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งการประชุมครั้งนี้มุ่งประเด็นข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนเพื่อชดเชย “ความสูญเสียและเสียหาย” (Loss and Damage) ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและภัยพิบัติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น [ Ref: SDGmove ]
บทบาทประเทศไทยในเวทีประชุม COP27 มีดังนี้
- ประเทศไทยจัดส่ง Long-term Strategy ฉบับปรับปรุง ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมาย 2050 Carbon Neutrality และ 2065 Net-zero Emission รวมทั้งยกระดับเป้าหมาย NDC เป็น 40% บนพื้นฐานของการสนับสนุนจากต่างประเทศ
- เพิ่มการผลิต Zero-emission vehicles เป็น 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดภายในปี 2030 เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างน้อย 50% ภายในปี 2050 และสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อการดูดกลับก๊าซ CO, ในเชิงพาณิชย์ก่อนปี 2040 รวมทั้งเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภทเป็น 55% ของพื้นที่ประเทศ เพื่อเพิ่มแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2037
- ส่งเสริม Bio-Circular-Green (BCG) Economy Model อย่างจริงจัง เพื่อนำไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืน
- ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เริ่มทำความตกลงเพื่อถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศภายใต้ความตกลงปารีส
ซึ่งการประชุมครั้งนี้ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการเริ่มต้นแก้ไขปัญหา ภาวะโลกร้อน มลพิษในชั้นบรรยากาศและการกำจัดคาร์บอน เพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน ทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการจัดตั้งกองทุน พร้อมสนับสนุนเงินทุนช่วยเหลือให้แก่กลุ่มประเทศต่างๆที่ได้รับผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
คาร์บอน (Carbon) คืออะไร เป็นผู้ร้ายของภาวะโลกร้อนหรือไม่ ?
คาร์บอนมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งในอากาศทำให้มีอุณหภูมิที่อบอุ่นหรือในดินที่ถูกทับถมเป็นเวลานานกลายเป็นพลังงานปิโตรเลียม รวมถึงในน้ำ/คน/สัตว์ก็มีคาร์บอนเพื่อให้เกิดความสมดุลการเจริญเติบโต ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นวัฏจักรของคาร์บอน หากว่าการหมุนเวียนในปริมาณที่เหมาะสมก็จะเป็นไปตามกระบวนการธรรมชาติ
ภาวะโลกร้อนเกิดจากมนุษย์ดึงคาร์บอนในรูปแบบต่างๆมาใช้มากเกินไป เช่น การขุดเจาะน้ำมันมาใช้ การตัดไม้ทำลายป่า การปล่อยควันเผาไหม้ของรถยนต์หรือเครื่องจักรโรงงานอุตสาหกรรม ประเทศไทยมีการปล่อยคาร์บอน 500 ล้านตันคาร์บอน หรือเทียบเท่ากับน้ำหนักช้าง 3,000-4,000 ตัวลอยขึ้นในอากาศทุกๆ 15 นาที สิ่งที่ธรรมชาติดูดซับได้คือต้นไม้ที่เหลืออยู่เพียงน้อยนิดในประเทศ หากมนุษย์เราไม่ได้มีการปลูกต้นไม้หรือใช้พลังงานทางเลือกอื่นๆมาทดแทน ก็จะทำให้ชั้นบรรยากาศเสียสมดุล
Source : รศ.ดร.ภัทรพร คิม [ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงานวิจัย BCGeTEC ]
ความเป็นกลางของคาร์บอน (Carbon Neutrality) คืออะไร ?
ความเป็นกลางของคาร์บอน หมายถึง ค่าสมดุลระหว่างการปล่อยคาร์บอน(carbon source) และการดูดซับคาร์บอน(carbon sink) ให้หักลบกันแล้วมีค่าใกล้เคียงศูนย์ หรือการซื้อคาร์บอนเครดิตปริมาณที่เท่ากัน เสมือนไม่ได้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจกชนิดต่างๆมาทำลายชั้นบรรยากาศ
ยกตัวอย่างเช่น โรงงานปล่อยก๊าซคาร์บอน 1 กิกะตัน(Gt)/ปี แต่มีการนำเทคโนโลยีพลังงานทดแทนเช่น โซลาร์เซลล์โซล่าเซลในการผลิต มาปรับใช้ในโรงงานเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งลดการปล่อยคาร์บอนและการกำจัดคาร์บอนให้สมดุลใกล้เคียงศูนย์ Carbon Neutality
การกำจัดก๊าซคาร์บอน(Carbon Sink) เป็นแหล่งกำจัดคาร์บอนมีทั้งแบบธรรมชาติ เช่น ดิน ป่าไม้ และมหาสมุทร ซึ่งสามารถกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ในประมาณ 9.5 – 11 Gt ต่อปี แต่การปล่อย CO2 ทั่วโลกสูงถึง 36 Gt ต่อปี (Ref. European Parliament, 2020) และมีการกำจัดคาร์บอนอีกรูปแบบหนึ่งคือ Carbon Capture and Storage หรือ CCS เป็นกระบวนการในการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากแหล่งกำเนิดในภาคอุตสาหกรรม และนำมากักเก็บไว้ในชั้นหินใต้ดินอย่างถาวร โดยไม่ปล่อยกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ
ซึ่งในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็น Carbon Sink แบบมนุษย์สร้างหรือแบบธรรมชาติก็ยังไม่สามารถกำจัดคาร์บอนในระดับที่ต่อสู้กับภาวะโลกร้อนได้ จึงต้องมีความร่วมมือระดับโลกและการวางแผนร่วมกันในระยะยาว
การสร้างสมดุลที่ยังยืน คือ การร่วมมือของทุกคนและทุกภาคส่วน ควรร่วมกันลดการปล่อยคาร์บอนให้น้อยที่สุดและหาทางพลังงานทางเลือกอื่นๆมาทดแทน ซึ่งแต่ละคนควรจะลดปริมาณคาร์บอน 4-8 ตัน/คน/ปี
Source : ดร.จิรวัฒน์ ตั้งปณิธานนท์ [ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Quantum Technology Foundation (Thailand) ]
การชดเชยคาร์บอน Carbon Offsetting
คือการลดหรือกำจัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซจากกิจกรรมต่างๆ ทำได้หลายวิธี เช่น การลงทุนพลังงานหมุนเวียน หรือการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันระหว่าง ผู้ปล่อยคาร์บอนสูงกับผู้มีโครงการสร้างคาร์บอนชดเชยเครดิต เป็นต้น
ตัวอย่างการลดการปล่อยมลพิษของสหภาพยุโรป
สหภาพยุโรปหรือ EU ได้กำหนดมาตรการ CBAM(Carbon Border Adjustment Mechanism) ซึ่งเป็นการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภทเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาในสหภาพยุโรป มาตรการ CBAM เสมือนเป็นแรงกดดันทางอ้อมให้ผู้ผลิตสินค้าในประเทศกำลังพัฒนาหันมาปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและลดการปล่อยคาร์บอนลง หรือหันมาลงทุนในพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เพื่อที่จะสามารถแข่งขันและเข้าสู่ตลาด EU ได้ เรียกได้ว่าเก็บภาษีนำเข้าที่สูงกว่าเพื่อกระตุ้นให้ทั่วโลกให้ความสนใจในเรื่องนี้ ถือว่าเป็นอีกกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้ทุกประเทศช่วยกันลดก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง
การปรับใช้มาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM ถูกพิจารณาค่าคาร์บอนในระยะแรก อาจกระทบสินค้าส่งออกของไทยไป EU มูลค่าสูงถึง 28,573 ล้านบาท และในอนาคตอาจมีการปรับเพิ่มสินค้าที่จะถูกนำมาพิจารณาเพิ่มเติม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์โรงกลั่น Refinery products, ปุ๋ยเคมี organic chemicals, ก๊าซไฮโดรเจน Hydrogen, สารแอมโมเนีย Ammonia และผลิตภัณฑ์พลาสติก Plastic Polymers ซึ่งรัฐสภายุโรปได้รับรองร่างกฏหมายนี้แล้วเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2022 ที่ผ่านมา โดยระบุถึงการลดระยะเวลาการบังคับใช้แบบเปลี่ยนผ่านลง จาก 3 ปี เป็น 2 ปี ทั้งนี้ต้องรอติดตามประกาศรายละเอียดอย่างเป็นทางการต่อไป
Ref. Set.or.th